น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

นิทรรศการ "ด้วยรักและห่วงใย ปันน้ำใจสู่พิจิตร"


เชิญชวนทุกท่านร่วมงานนิทรรศการ “ด้วยรักและห่วงใย ปันน้ำใจสู่พิจิตร” ที่ตลาดบองมาเช่ ระหว่างวันที่ 12-13-14 กุมภาพันธ์ 2559 ทาง “เครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ” (ปปท.) มีการจัดแสดงพื้นที่แต่ละโซน  ดังนี้
1.       โซนแสดงภาพถ่ายและจุดรับบริจาค
1.1   แสดงภาพถ่ายด้วยการนำภาพถ่ายกิจกรรมบริจาคน้ำดื่ม-ข้าวสาร-อาหารแห้ง ทั้ง 3 ครั้ง
1.2   มีภาพถ่ายขนาดเท่าโปสการ์ด เพื่อให้ผู้บริจาค ได้เขียนให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบ
1.3   จุดรับบริจาค โดยจะขอรับบริจาคเป็น “น้ำดื่ม-ข้าวสาร-อาหารแห้ง” (งดรับบริจาคเป็นเงิน)
2.       โซนแสดงภาพวาด = นำภาพวาดพร้อมใส่กรอบ ตั้งแสดงบนฟางก้อน (โดยจัดให้มีความสูงไม่เกินระดับหน้าอก) จำนวน 20-30 ภาพ เพื่อนำรายได้ไปจัดซื้อน้ำดื่ม-ข้าวสาร-อาหารแห้ง ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และนำไปจัดทำหนังสือให้ความรู้ประชาชนต่อไป
3.       โซนแสดงนิทรรศการให้ความรู้แร่ทองคำและการทำเหมืองทองคำในประเทศไทย “เหมืองทองคำ คนไทยควรรู้”
3.1   แสดงข้อมูลเกี่ยวกับแร่ต่างๆ รวมถึงทองคำ และการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย
3.2   นำก้อนแร่ สินแร่ ต่างๆ ที่มีแร่ทองคำเป็นส่วนประกอบ
3.3   จุดถ่ายภาพ
4.       กิจกรรมต่างๆ ดังนี้
4.1   การทำกัวซา เพื่อถอนพิษในร่างกาย อันเป็นการบำบัดผู้ได้รับผลกระทบรอบเหมืองทองคำ
4.2   การนำสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีการรุกล้ำและเริ่มดำเนินการขออนุญาตการทำเหมืองทองคำแล้ว มาจำหน่ายเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นทางอ้อมว่า หากมีการทำเหมืองทองคำครบ 31 จังหวัด พื้นที่เกษตรกรรมของไทยจะหายไปจำนวนมาก อีกทั้งผลผลิตเหล่านี้จะยังมีสารปนเปื้อนส่งจำหน่ายให้กับทุกคนในประเทศไทย ซึ่งสารปนเปื้อนเหล่านั้น (ความรู้จากนิทรรศการ) เป็นสารก่อมะเร็ง และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรเพื่อชดเชยค่าเดินทางของบุคคลากรที่มาร่วมงานจากต่างจังหวัด
4.3   การจำหน่ายสบู่สมุนไพร ซึ่งคณะชี คณะสงฆ์ และศิษย์จิตอาสา จากวัดป่าสันติธรรม จ.สระบุรี (ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีการสำรวจแร่ทองคำและกำลังจะมีการไล่ที่) ที่ร่วมกับทำสบู่มาจำหน่ายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
4.4 กิจกรรมให้ความรู้เรื่องแร่ทองคำ และสินแร่ต่างๆ ที่มีทองคำอยู่ด้วย บนเวที โดยก่อนเริ่มกิจกรรม ให้ผู้ร่วมงานไปชมนิทรรศการแล้วมาฟังและตอบคำถาม ทางเราจะนำของรางวัลแจกเมื่อตอบคำถามถูกต้อง
.........................................

ชื่อโครงการ:   นิทรรศการ “ด้วยรักและห่วงใย ปันน้ำใจสู่พิจิตร”
ผู้รับผิดชอบ:   ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.)
ผู้ประสานงาน: นายปรีดา ลิ้มนนทกุล (ที่ปรึกษา ปปท.) มือถือ 086-314-7866
ความเป็นมา:

ประเทศไทยมีสายแร่ทองคำ (Gold Belt) ทางฝั่งอีสานตอนบน (จ.เลย) พาดผ่านหลายจังหวัดลงมา (จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร) จนถึงภาคกลาง (จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี จ.สระบุรี) ผ่านจนไปถึงภาคตะวันออก (จ.สระแก้ว จ.ระยอง จ.จันทบุรี) บางส่วนจนถึงภาคใต้ (จ.สุราษฎร์ธานี จ.สตูล)  และกำลังมีการสำรวจ คาดว่าอาจจะมีทองคำซึ่งปะปนอยู่กับแร่อีกหลายชนิดมากถึง 31 จังหวัด แต่การถลุงแร่ทองคำนั้นมีผลเสียมากกว่าได้ สำคัญๆ เช่น

1.       ตามธรรมชาติสารหนู สารแคดเมียม สารโลลหะหนักหลายชนิด จะอยู่คู่กับทองคำ  การนำทองคำขึ้นจากชั้นดินและหินนั้น จะทำการระเบิดหน้าดินและชั้นหิน ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารหนู สารโลหะหนักต่างๆ
2.       การถลุงแร่ทองคำต้องใช้สารพิษไซยาไนต์ในการสกัดเนื้อทองคำออกจากชั้นดินหรือหิน โดยจะนำสารพิษไปทิ้งในบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งมีการบริหารจัดการเป็นแบบบ่อเปิด ทำให้มีการระเหยออกปะปนในอากาศและตกลงพื้นดินทำให้พืช สัตว์ มนุษย์ ได้รับสารพิษสะสม เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เป็นมะเร็ง
3.       ทั้งสารโลหะหนักที่มีตามธรรมชาติ แต่ต้องกลับมาฟุ้งกระจาย และการใช้สารพิษไซยาไนต์ในการสกัดทองคำ ทำให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณเหมือง พืชเศรษฐกิจทั้งหมด เช่น ข้าวสาร มะม่วง ผลไม้ต่างๆ จะมีสารปนเปื้อน และเป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นมะเร็ง ซึ่งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทราบเรื่องนี้ดี จึงไม่ทาน แต่ส่งออกไปนอกพื้นที่ ดังนั้นหากการทำเหมืองทองคำและแร่ต่างๆ กระจายไปถึง 31 จังหวัด ย่อมส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรที่พลเมืองทั่วประเทศจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงกระทบการส่งออก
4.       ค่าภาคหลวงที่ได้รับจากการทำสัมปทานมีมูลค่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าทองคำ เกิดกระบวนการทุจริตระหว่างการดำเนินการ ทั้งในระดับประเทศ ในระดับพื้นที่จังหวัด และระดับปฏิบัติการ
5.       การเตรียมพื้นที่สำหรับทำเหมืองทองคำ เนื่องจากการสำรวจพบว่า ทองคำอยู่ใต้พื้นที่ภาคเกษตรและป่าต้นน้ำ จึงอาจจะเกิดการร่วมมือกันของนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ในการทวงคืนผืนป่า โดยอ้างสิทธิ์ในการทวงที่ดินทำกินทุกประเภทคืนจากชาวบ้าน ภบท. สปก. นส3ก. หรือแม้แต่โฉนดที่ดิน หน่วยงานรัฐยังอ้างว่าออกผิด ขอทวงคืน เป็นต้น อีกทั้งยังร่วมกันแก้ พรบ.แร่ฯ ให้คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้สัมปทานทำลายพื้นที่ต้นน้ำในป่าอนุรักษ์ได้

ความเสียหายพอสังเขป ที่ยังไม่รวมผลกระทบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจประเทศ เมื่อทุนนอกที่เข้ามาทำสัมปทานไปแล้ว จะทิ้งแผ่นดินที่เต็มไปด้วยสารพิษ ความแห้งแล้ง ความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน ให้กับสิ่งมีชีวิต สัตว์เลี้ยง พืชสวนครัวที่ทานไม่ได้ ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากร่างกายภายนอกและภายใน

  
การนำเสนอโครงการ:
เนื่องจากพลเมืองของ 12 จังหวัด (เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สตูล ตระหนักถึงผลกระทบในวงกว้างกรณี “โมเดลพิจิตร” ที่ชุมชนล่มสลาย ชาวบ้านรอบเหมืองเจ็บป่วยล้มตาย จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.)” ขึ้น โดยมีภารกิจสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์กับประชาชนทั้งประเทศ ในด้านผลกระทบจากทรัพยากรเหมืองแร่ และทองคำไทย จึงได้มีความคิดริเริ่มที่จะนำข้อมูล ข้อเท็จจริง ของการทำเหมืองแร่ทองคำ และกิจกรรมในการขับเคลื่อนออกเผยแพร่ให้กับกลุ่มประชากรในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล เพื่อให้สังคมเมืองส่วนกลางได้รับทราบ และตระหนักรู้ ตื่นรู้ เช่นเดียวกันกับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ และจังหวัดที่กำลังจะได้รับผลกระทบ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากทุกฝ่ายไม่ร่วมกันต่อต้านช่วยเหลือกัน ทุกคนในประเทศจะได้รับผลกระทบร่วมกันผ่านอาหารที่ต้องบริโภคทุกวัน อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคผิวหนังรุนแรง เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งในที่สุดสำหรับผู้บริโภคทั่วประเทศ

ดังนั้นทางกลุ่ม ปปท. จึงได้ขอความอนุเคราะห์ ทางห้างหุ้นส่วนจำกัด รัจนาการ (2530) ในการจัดงานนิทรรศการ “ด้วยรักและห่วงใย ปันน้ำใจสู่พิจิตร” ที่ บองมาเช่ มาร์เก็ตตพาร์ค โดยแบ่งพื้นที่จัดงานเป็น 3 โซน ดังนี้
1.       โซนที่ 1 จัดแสดงภาพวาดจากศิลปินที่บริจาคภาพวาด และจำหน่าย/ เบื้องต้น นายปรีดา ลิ้มนนทกุล จะวาดภาพวาดกาแฟ และจะติดต่อขอภาพกับศิลปินที่รู้จักเป็นการส่วนตัวอีก 3-5 ท่าน ในการร่วมบริจาคภาพวาด
2.       โซนที่ 2 จัดแสดงความรู้การทำเหมือง ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ มีการแสดงตัวอย่างแร่ ชนิดต่างๆ ที่อยู่คู่กับทองคำ

3.       โซนที่ 3 จุดรับบริจาคน้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ลูกค้า และผู้ใช้บริการของบองมาเช่ อุดหนุนจากผู้ค้าในบองมาเช่ มาบริจาคให้กับผู้ได้รับผลกระทบรอบเหมือง โดยจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายจากกิจกรรม “ด้วยรักและห่วงใย ปันน้ำใจสู่พิจิตร ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3” (โดยภาพที่แสดงจะมีทิศทางเป็นภาพที่สร้างสรรค์ แสดงถึงความมีน้ำใจ การช่วยเหลือกันของผู้มีน้ำใจต่อผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางบองมาเช่ เข้ามีส่วนร่วมในการคัดเลือกภาพ ตัวอย่างภาพท้ายเอกสารโครงการฯ) และจะมีภาพถ่ายขนาดโปสการ์ดให้ผู้บริจาคเขียนให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบ

ระยะเวลาในการจัดแสดงนิทรรศการ:
จัดขึ้นในงาน “เทศกาลแห่งความรัก” ที่ตลาดบองมาเช่ ระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10.00-17.00 น. (ศุกร์ – อาทิตย์) และจะทำการขนสิ่งของบริจาคไปยังจุดบริจาคที่พิจิตร ในวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อไป

วัตถุประสงค์:
1.       เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ตื่นรู้ ถึงข้อเสียของการทำเหมืองแร่ทองคำ ให้กับกลุ่มผู้ใช้บริการบองมาเช่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
2.       เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมในการบริจาค และให้กำลังใจ กับผู้ได้รับผลกระทบรอบเหมือง

3.       เพื่อนำของบริจาคไปมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบรอบเหมือง และจัดนิทรรศการภาพถ่ายการดำเนินการโครงการฯ และนิทรรศการ การเขียนให้กำลังใจในภาพถ่าย ไปแสดงที่ ต.ทับคล้อ จ.พิจิตร เพื่อให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบรอบเหมือง

รับบริจาคกระดาษ A4 เพื่อชี้แจงปัญหาการทำเหมืองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 50 รีม