น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ข้อเสนอแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559


เครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559

เรื่อง   ข้อเสนอแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559
เรียน   ท่านประธานและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญเบื้องต้นต่อสาธารณะชน เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ.2559 ความดังทราบแล้วนั้น
เนื่องจากมาตรา 53 รัฐต้องอนุรักษ์คุ้มครอง บำรุงรักษาฟื้นฟูบริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวะภาพให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 54 การดำเนินการใดของรัฐ หรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิต หรือสุขภาพของประชาชน หรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการดำเนินการตามวรรค 1 รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวะภาพน้อยที่สุด และต้องมีการดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชน หรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
ในนามของเครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ขอเสนอเพื่อแก้ไขปรับปรุงตามมาตรา 53 และมาตรา 54 เนื่องจากเป็นการส่งเสริม ผลักดัน และผูกขาดให้ทรัพยากรตกเป็นสิทธิของรัฐ และรัฐเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการ ในขณะที่ประชาชนเป็นผู้ไม่มีสิทธิ
ปัญหาที่ผ่านมาของการจัดการทรัพยากรในประเทศไทย คือรัฐจับมือกับเอกชนดำเนินการในทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ต่อประชาชนและประเทศชาติ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วยังแก้ไขไม่ได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นผู้ประกอบการ มีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจ และกิจการอันกลายเป็นรัฐและเอกชน เป็นผู้มีส่วนได้เสียเองไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้             และกลายเป็นอำนาจของรัฐทับซ้อนกับธุรกิจของเอกชน หรือผู้ประกอบการในคราวเดียวกัน             ซึ่งเป็นการดำเนินการไปอย่างไม่เป็นธรรม จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยไร้กลไกของกฎหมายควบคุม จากการใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์นั้น
ปัญหาพื้นที่ ที่ดินทำกินของประชาชน ถูกใช้กฎหมายละเมิดสิทธิ์เนื่องจากมีทรัพยากรในที่ดินทำกิน และรัฐเป็นผู้มีอำนาจจัดการ ทั้งในด้านทรัพยากรและจัดการในส่วนของที่ดิน ประกอบกับกฎหมายที่ใช้กับทรัพยากร ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติแร่พุทธศักราช 2510  หรือพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ ที่ประชาชนยังคัดค้าน ก็มีเนื้อหาให้ที่ดิน ที่มีทรัพยากรต้องนำไปใช้เป็นแหล่งแร่ก่อนการสงวนหวงห้ามก่อนการใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดิน
พระราชบัญญัติแร่พุทธศักราช 2510 มาตรา ๖ จัตวา๑๖   
“เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม*โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย”
และพระราชบัญญัติแร่เหนือกว่าพระราชบัญญัติฉบับอื่น เพื่อนำค่าภาคหลวงมาพัฒนาประเทศอันเป็นการเปิดช่องไว้ให้มีการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น และหากเมื่อทรัพยากรกลายเป็นรัฐ เป็นผู้จัดการบริหารเองเสียแล้ว ประชาชนก็จะขาดสิทธิในการบริหารจัดการตามสิทธิของประชาชนที่ต้องมีอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในส่วนของที่ดินทำกินของประชาชน ที่มีทรัพยากร ที่ผ่านมาพบปัญหาว่ามีการใช้กฎหมายดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยถูกใช้กฎหมายป่าไม้ดำเนินการให้ออกจากที่ดินตัวเอง และประชาชนจำนวนมากต้องขาดสิทธิในที่ดินทำกิน และปัญหาที่พบแล้วคือมีการยกเลิกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน ในอำเภอสากเหล็กจังหวัดพิจิตร มีการยกเลิกโฉนดที่ดิน และ นส3ก ที่อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และยกเลิกเอกสารสิทธิ สปก – 401 ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และมีการยกเลิกการเก็บภาษีที่ทำกินเดิมตามสิทธิของประชาชน ที่มีเอกสารสิทธิ ภบท5 เป็นหลักฐานยืนยันสิทธิทำกินเดิม ที่ทำกินมาอย่างยาวนานของประชาชนอีกหลายราย และพบปัญหาว่าในเขตอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ที่ประชาชนถูกให้ออกจากที่ดินด้วยกฎหมายป่าไม้ จากนั้นมีการให้เอกชนใช้พื้นที่สำรวจแร่ทองคำ และพบว่าเหมืองแร่ทำได้ในที่ป่าไม้อย่างถูกกฎหมาย           ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในคดีเหมืองแร่ทองคำ ที่คิงส์เกทอาจติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ในการทำเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมดดังที่ยกตัวอย่างปัญหาในจังหวัด สระบุรี ลพบุรี พิจิตร พิษณุโลก เป็นพื้นที่เดียวกับที่มีการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ของกลุ่มบริษัท คิงส์เกท จากประเทศออสเตรเลียไว้ล่วงหน้ามาแล้ว
และพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเคยเป็นกรรมการบริษัทของเหมืองทองคำ ก่อนลาออกเพียง 3 วันเพื่อมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเป็นต้น
อันเป็นตัวอย่างของปัญหาที่ดินที่มีทรัพยากร โดยเฉพาะทองคำ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนจากหลักฐานที่พบสายแร่ทองคำกินพื้นที่ถึง 31 จังหวัดในประเทศไทย และที่พบแล้วคือหลังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ระบุพื้นที่ เข้าตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งที่ ที่ดินดังกล่าวประชาชนยังอยู่อาศัยทำกินในที่ดิน และมิได้ยินยอมให้เอาสิทธิดังกล่าว แก่เอกชนไปกระทำการเยี่ยงนั้น อันเป็นการเอาสิทธิของประชาชนไปใช้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นสัญญาณว่าในที่สุดประชาชนก็จะถูกใช้กฎหมายดำเนินการให้ขาดสิทธิในที่ดินทำกินของตนในที่สุด เนื่องจากหากรัฐเป็นผู้มีอำนาจ และผูกพันกับเอกชน หรือเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการเสียเอง อันจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อคนไทยทั้งประเทศ ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินที่มีทรัพยากร จึงควรขอให้แก้ไขและเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญดังนี้ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศไทย และปวงชนชาวไทยทุกคนดังนี้
1. ทรัพยากรทุกชนิด ต้องเป็นของปวงชนชาวไทยและประชาชนต้องเป็นผู้มีสิทธิทั้งในที่ดิน ใต้ดิน และบนดิน รัฐต้องจัดการเพื่อประโยชน์สูงสุดของปวงชนชาวไทย และเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
2. ประชาชนต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ในพื้นที่                  ที่มีทรัพยากรทุกชนิด
3. ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ต้องเป็นผู้มีสิทธิคัดค้าน รับทราบ ตามความจริงก่อนการดำเนินการใด เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร
4. เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไม่เป็นกรรมการบริษัท ผู้ประกอบการ หรือผู้มีผลประโยชน์ จากธุรกิจหากจะดำรงตำแหน่งต้องพ้นจากข้าราชการไปแล้ว 5 ปี
5. กรรมการและผู้บริหารธุรกิจ จะเป็นรัฐมนตรี ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการและผู้บริหาร กำกับดูแลในธุรกิจนั้นๆ แล้ว 5 ปี
6. แยกปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรเฉพาะของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นทรัพยากรพื้นฐาน              ที่มีความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้ผลประโยชน์หลักตกแก่ประเทศไทย และปวงชนชาวไทย อย่างแท้จริง
7. แยกทองคำเป็นทรัพยากรแร่พิเศษ ให้เป็นสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพยากรอื่นๆ ให้จำกัดทองคำเป็นแร่พิเศษ มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่มีมูลค่ามหาศาล สามารถค้ำจุนประเทศได้อย่างมั่นคง ให้ทองคำเป็นแร่พิเศษเฉพาะที่มีรัฐธรรมนูญคุ้มครอง ห้ามมิให้มีการอนุมัติ อนุญาต ให้ต่างชาติสัมปทาน และห้ามคนไทยเป็นตัวแทนถือหุ้นแทนต่างชาติในการสัมปทานทองคำ และห้ามบุคคลใดสัมปทานทองคำเพื่อประโยชน์ส่วนตน             ให้ทองคำเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน หากประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องขุดทองคำขึ้นมา               เพื่อพัฒนาประเทศ ให้ทองคำที่ได้มาจากแผ่นดินประเทศไทยถูกนำเข้าไปไว้ในคลังหลวง เพื่อเป็นผลประโยชน์ของแผ่นดินประเทศไทย และเพื่อปวงชนชาวไทยเป็นสำคัญ
จึงเสนอแก้เพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย และเพื่อปวงชนชาวไทยทุกคนอย่างแท้จริง หากข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการพิจารณาแก้ไขและดำเนินการ
 ในนามของประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ก็จะขับเคลื่อนเพื่อให้มีการปรับแก้ไข ตามข้อเสนอนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย และปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงต่อไป
ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ



















รับบริจาคกระดาษ A4 เพื่อชี้แจงปัญหาการทำเหมืองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 50 รีม