ประชาคมสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ(ปปท.)
ที่
ปปท. ๐๐๑/๒๕๕๘
วันที่
๒๒ กันยายน 2558
เรื่อง ขอคัดค้านและให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง
เพิกถอนประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษที่เกี่ยวข้องกับแร่ทองคำโดยทันที
กราบเรียนฯพณฯ
นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)
สิ่งที่แนบมาด้วย รายงานข้อมูลผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ
“ขุมทองของใคร
?”
เนื่องด้วย
ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและจะได้รับผลกระทบ
จากการสำรวจแร่ทองคำและทำเหมืองแร่ทองคำ ใน 12
จังหวัด ซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ทองคำ 31 จังหวัด ได้แก่
พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสรรค์ เลย ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว
สุราษฎร์ธานี และสตูล เป็นต้น แต่ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
เจตนาจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ
เพียงแค่ 2 จังหวัดเท่านั้นจาก 12 จังหวัด
กล่าวคือที่จังหวัดพิจิตร ในวันที่ 15 กันยายน 2558 และที่จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 17 กันยายน 2558
และให้ส่งความคิดเห็น ภายในวันที่ 25 กันยายน 2558 เพื่อ กพร. จะเตรียมการเสนอร่างนโยบายเหมืองแร่ทองคำต่อคณะรัฐมนตรี
ซึ่งเห็นว่ามีความเร่งรีบดำเนินการอย่างผิดปกติ เจตนาไม่ให้ความรู้และความจริงแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนจำนวนมากจากการดำเนินการดังกล่าว
โดยที่ตัวแทนชาวบ้านได้มีหนังสือยื่นคัดค้านการดำเนินการของ กพร. ต่อนายกรัฐมนตรี
ป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ กพร. ไว้แล้ว
ตัวแทนชาวบ้านจึงได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ
จากการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่ง
ครม.ปี 2550 ได้มีการชะลอนโยบายฯ ดังกล่าวไว้ก่อน ถ้าหาก ครม.
ชุดปัจจุบันอนุมัตินโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ
จะทำให้เกิดการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยกว่าล้านไร่ ทั้งยังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.
แร่ ฉบับใหม่ซึ่งประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่มีการห้ามการทำเหมืองแร่ทองคำในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น
1A
ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ทำลายต้นน้ำลำธารและก่อให้เกิดการปนเปื้อนในวงกว้าง
การลดขั้นตอนในการอนุญาตให้สั้นลงทำให้ขาดการศึกษาและผลกระทบอย่างแท้จริง
เป็นการปกปิดข้อมูลแก่ประชาชนไม่ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
ในเขตพื้นที่12 จังหวัดดังกล่าวนั้น ได้มีประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำกว่า 33 แปลง อาชญาบัตรพิเศษให้สำรวจแร่ทองคำกว่า 65 แปลง
ประมาณ 6 แสนไร่ และพื้นที่มีการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษ กว่า
107 แปลง รวมแล้วเป็นพื้นที่เกินกว่าล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ภูเขา
ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร แม่น้ำ เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก. 4-01) ถนน บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยวสวนผลไม้ และพื้นที่ทำกินของประชาชน
ซึ่งในการทำเหมืองทองคำจำเป็นต้องทำลายทรัพยากรทั้งหลายเหล่านั้น
และสร้างบ่อทิ้งกากแร่ขึ้นมาแทนถ้าให้ทำเหมืองทองคำทั้งประเทศ
ก็จะมีบ่อทิ้งกากแร่เป็นพื้นที่เกินกว่าล้านไร่ เป็นบ่อทิ้งกากแร่ที่มีความสูง 30-50
เมตร อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และต้องใช้สารพิษไซยาไนท์ จำนวนล้านกว่าตันต่อปี
(เปรียบเทียบจากเหมืองทองคำชาตรีที่ทำเหมืองพันกว่าไร่ใช้สารพิษไซยาไนท์พันกว่าตันต่อปี
มีบ่อทิ้งกากแร่ขนาดพันกว่าไร่ สูงกว่า 30 เมตร) เมื่อฝนตก
ลมพัด ก็จะซะล้างกากแร่เพราะบ่อกากแร่อยู่ในที่โลงแจ้งและสูงแทนที่ภูเขา ไม่ได้มีหลังคาคลุมไม่ให้ถูกลมถูกฝน
พอฝนตกลมพัดก็จะไหลอาบบ่อทิ้งกากแร่พัดพาสิ่งที่มีสารพิษไซยาไนท์แมงกานีส สารหนู
และสารโลหะหนักอื่นๆ ลงสู่แหล่งน้ำที่อยู่ในที่ต่ำกว่า กระทั่งน้ำใต้ดิน
ไหลลงไปตามร่องน้ำลำคลอง กระจายไปยังพื้นที่การเกษตร ที่ชุมชน และเข้าสู่ร่างกายของคน
ทำให้น้ำบาดาลปนเปื้อนสารโลหะหนัก
ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้เคยมีหนังสือห้ามไม่ให้ชาวบ้านรอบเหมืองทองคำชาตรี ที่พิจิตร
ไม่ให้ใช้บ่อน้ำ และน้ำบาดาล เพราะอาจเป็นอันตรายได้ ในปี 2552 ที่พิจิตรก็มีข่าวการล้นของน้ำจากเหมืองเข้าท่วมแหล่งน้ำสาธารณะ
และในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นหน้าแล้ง
ก็มีน้ำใต้ดินพุดขึ้นแปลงนาข้าวที่อยู่ข้างบ่อทิ้งกากแร่ TFS 2 ของเหมืองทองคำชาตรี น้ำท่วมแปลงนาข้าวกว่าสิบไร่
ซึ่งเป็นทางน้ำเก่าที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลุมหลาว”
จะมีน้ำพุดในหน้าฝนเมื่อต้นน้ำมีน้ำมากก็จะมาพุดในที่นาข้าวแถวนี้ ปัจจุบันต้นของทางน้ำนี้เป็นบ่อทิ้งกากแร่ที่มีความสูงกว่าสามสิบเมตร
และมีพื้นที่รวมกันกว่าพันไร่
โดยปริมาณกากแร่จำนวนมากอยู่ในที่สูงเป็นภูเขาสารพิษขนาดย่อมๆ
ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์พบว่าน้ำที่พุดในแปลงนามีการปนเปื้อนสารไซยาไนท์ที่มีลักษณะคล้ายกับไซยาไนท์ในบ่อทิ้งกากแร่TFS1ของเหมืองทองคำชาตรี ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อว่าน้ำใต้ดินที่พุดขึ้นในนาข้าวนั้นมาจากบ่อทิ้งกากแร่ที่สูงกว่าหรือไม่
บริเวณพื้นที่ที่มีได้รับอาชญาบัตรพิเศษหรือที่มีคำขออาชญาบัตรพิเศษ
นั้น ถ้าเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทำกินอยู่โดยยังไม่มีเอกสารสิทธิจะมีการดำเนินการเอากฎหมายป่าไม้ดำเนินการเหนือที่ดินทำกินของประชาชนโดยเฉพาะในพิษณุโลก
พิจิตร ลพบุรี และสระบุรี ได้มีการเอาชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าเอากลับไปเป็นพื้นที่ป่าไม้
เพื่อกันไม่ให้ประชาชนอ้างสิทธิครอบครอง แม้แต่ในพื้นที่อุทยานทุ่งแสลงหลวงก็มีการขอคืนพื้นที่เป็นป่าไม้แต่กลับให้นายทุนบุกรุกสำรวจแร่จนเป็นคดีความกันในปี
2547-2548
ซึ่งรอบๆ บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษ จำนวน 30 แปลงของบริษัทริชภูมิไมนิ่งจำกัดและในปี 2553
พื้นที่ดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
แต่ก็ไม่มีการดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนในพื้นที่นั้นให้แล้วเสร็จค้างดำเนินการเป็นจำนวนมาก
นอกจากพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ในพื้นที่คำขออาชญาบัตรพิเศษของบริษัทฟ้าร้องจำกัดในจังหวัดสระบุรี
และลพบุรี ก็ที่เป็นเขตพื้นที่พระราชกฤษฎีกาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
แต่ไม่มีการจัดรูปที่ดินให้แก่ประชาชนอย่างครบถ้วนทุกคนและในพื้นที่สระบุรีและลพบุรียังมีปัญหาเรื่องเขตจังหวัดโดยอ้างเขตจังหวัดสระบุรีเป็นเขตจังหวัดลพบุรีเพื่อให้ประชาชนย้ายออกจากพื้นที่
มีการขอคืนพื้นที่เพื่อไปทำสวนป่าของรัฐบาล ลักษณะเดียวกันกับที่จังหวัดพิษณุโลก
และมีการพบหลุมสำรวจแร่จำนวนมากแต่ยังไม่มีการดำเนินคดีเหมือนที่พิษณุโลก
ในส่วนของจังหวัดสระบุรี ลพบุรี
และพิษณุโลก ก็มีการใช้กฎหมายเข้าดำเนินการทับซ้อนที่ดินตามประกาศ ส.ป.ก.
และล่าสุดพบวามีการเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก. ของประชาชนไปแล้วหลายร้อยราย
โดยให้เหตุผลว่า ส.ป.ก. ออกผิดพลาดทับพื้นที่ป่าไม้ จึงเป็นเหตุให้มีการยกเลิก
และเป็นที่ดินที่มีบริษัทเข้ามาขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่
เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำไว้รอมาก่อนแล้ว และมีความผิดปกติมีการเอาหมุดเสาโฉนดที่ดินมาปักทับซ้อนที่ดิน
ส.ป.ก. ที่ชาวบ้านยังครอบครองสิทธิทำกินอยู่มาจนถึงขณะนี้
แต่เมื่อถามไปยังหน่วยงานของรัฐก็ยังไม่มีคำตอบ
อีกทั้งในส่วนของจังหวัดลพบุรีก็พบว่ามีปัญหาเช่นเดียวกัน คือ
มีบริษัทเข้ามาขออาชญาบัตรพิเศษครอบคลุมไว้เกือบสองแสนไร่
พื้นที่ทั้งหมดพบว่ามีการสำรวจแร่ไปแล้วเช่นเดียวกับจังหวัดสระบุรีและที่สำคัญพื้นที่ส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิในที่ดิน
และมีการยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท. 5)
ไปแล้ว เช่นเดียวกันกับที่จังหวัดพิจิตร และประชาชนกลายเป็นผู้ขาดสิทธิในที่สุด
อีกทั้งการแก้ผังเมืองใหม่ในส่วนของจังหวัดลพบุรี และสระบุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ
มีการแก้พื้นที่ทางการเกษตรเดิมของประชาชนไปเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ซึ่งตัวแทนประชาชนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะเสียสิทธิในที่ดินทำกินและตัวแทนประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกก็ได้คัดค้านไว้ด้วยเช่นกัน
และพื้นที่ทุกจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีการเตรียมทำเหมืองทองคำ
และก็สามารถทำเหมืองทองคำได้ในพื้นที่ป่าไม้อย่างถูกกฎหมาย
อีกทั้งพื้นที่ที่ประชาชนคัดค้านอยู่นั้นพบว่ามีการระบุเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วในขณะที่ประชาชนผู้อาศัยทำกินยังไม่ทราบเรื่องราวและไม่ได้ให้ความยินยอมและเป็นผู้มีสิทธิทำกินในที่ดิน
แต่ด้วยกระบวนการที่กำลังถูกดำเนินการร่วมกันด้วยกฎหมายป่าไม้ กฎหมาย ส.ป.ก.
พ.ร.บ. แร่ และระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม และ พ.ร.บ. ผังเมือง รวมถึงการเร่งผลักดันนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำเป็นไปในลักษณะสอดคล้องเชื่อมโยงอย่างผิดปกติและอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กลุ่มตัวแทนประชาชนจึงได้ร่วมกันคัดค้านมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
อนึ่ง รอบพื้นที่การทำเหมืองทองคำชาตรี
ที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งพบว่าสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อยู่รอบๆ
เหมืองพิจิตรกว่าสองร้อยคนตรวจพบสารโลหะหนักในปัสสาวะและในเลือด
มีแมกกานีสและสารหนูปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ข้าวและพืชผักต่างๆ
จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำบาดาล ต้องรอรับน้ำถังบริจาค
รอรับบริจาคคูปองเพื่อซื้อพืชผักเพื่อยังชีพ ถึงแม้ว่าจะเคยมีคำสั่งของศาลปกครองให้ยุติการทำเหมืองชั่วคราว
และให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์) และการทำเหมืองทองคำจะมีการจ่ายค่าภาคหลวงแร่ปีละหลายร้อยล้านบาท
แต่คุณภาพชีวิตของชาวบ้านรอบๆ เหมืองต้องเจ็บป่วยล้มตายด้วยอาการอย่างเดียวกันโดยไม่ทราบสาเหตุ
จนไม่อาจอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้และได้รวมตัวกันที่จะเรียกร้องขอให้อพยพ
ออกจากพื้นที่ดังกล่าว
ประชาชนจึงได้รวมตัวกันเป็นองค์กรภาคประชาชนใช้ชื่อว่า
“ประชาสังคมเพื่อการปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) โดยขอให้พิจารณาดำเนินการ
ดังนี้
๑.
ขอให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง
ยกเลิกประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษ และคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ
โดยทันที
2.
ขอให้ทำการตรวจและรักษาสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกด้านอย่างละเอียดในทันทีและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
โดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลางและให้พิจารณาต้นทุนที่ผลักภาระให้กับสังคมทั้งหมดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ
(Externalities) โดยให้เป็นภาระต้นทุน
ค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดโดยปราศจากมลพิษและต้องให้มีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน
3.ขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติแร่
พ.ศ.๒๕๑๐ และยกเลิกร่างแก้พระราชบัญญัติแร่ที่อยู่ระหว่างหรือผ่านความเห็นชอบของสำนักงานกฤษฎีกาหรือผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทุกฉบับ
เพราะนอกจากจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง
และไม่สร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนแล้ว
ยังจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผลกระทบต่อ ดิน น้ำ ป่า สุขภาวะของชุมชน รวมถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนต่อผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ
และให้จัดทำร่างกฎหมายแร่ขึ้นใหม่ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชาติและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
4.
ในระหว่างที่กำลังจะมีการปิดเหมืองทองคำ หรือปิดเหมืองทองคำแล้ว
หากมีประชาชนได้รับผลกระทบในทางสุขภาพและวิถีชีวิตจะต้องได้รับการเยียวยาโดยทันที
และในกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจนต้องมีการอพยพ
เพื่อให้มีหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ถูกหลอกจากกลุ่มทุนเหมืองทองคำ
และป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนความเดือดร้อนของประชาชนและทำให้ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์อย่างเป็นธรรม
ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.)
ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบายให้ดำเนินการบริหารจัดการและจัดงบประมาณให้มีการอพยพในเงื่อนไขที่ประชาชนมีความพึงพอใจและเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
โดยรัฐบาลต้องรับประกันเป็นลายลักษณ์อักษรและต้องลงมือปฏิบัติจริงว่าพื้นที่ซึ่งประชาชนได้อพยพออกไปนั้นจะยังคงสงวนสิทธิ์ในการครอบครองให้เป็นของประชาชนต่อไปในพื้นที่เดิมและห้ามมิให้กลุ่มทุนเหมืองทองคำ
หน่วยงานของรัฐและผู้อื่นเข้าดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ที่ประชาชนได้เคยอยู่อาศัย
เคยใช้ประโยชน์ และได้ครอบครองในพื้นที่ดังกล่าว
5.ขอให้กำหนดแผนฟื้นฟูทรัพยากร ดิน
น้ำ ป่าไม้ รอบๆ เหมืองทองคำ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ นางสาวอารมณ์ คำจริง
นางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล นายสว่าง ปราบงูเหลือม
นายณัฐพล แก้วนวล นายนัทพล ใจมั่น
นายปรีชา แสงจันทร์
หมายเหตุ: ยังมีข้อมูลจำนวนมากที่พร้อมยื่นเพิ่มเติม
ติดต่อประสานงาน:
ชนัญชิดาลิ้มนนทกุล
โทรศัพท์ ๐๘๘ ๕๔๕๑๖๔๖
อารมย์ คำจริง โทรศัพท์ ๐๘๑ ๖๗๕๗๘๘๙
ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต